ห้องประชุมกมลพร โรงแรมสยามเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ดูแคบถนัดตา เมื่อคณะจากมหาวิทยาลัยสยาม นำโดย ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี พร้อมด้วย พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อุปนายกแพทยสภา และคณะกว่า 30 ชีวิตมาในงานแถลงข่าว "40 ปี ม.สยาม ความพร้อมสร้างแพทย์คุณภาพสู่ AEC" เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยมี นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน เมื่อเช้าวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา
อธิการบดี ม.สยาม กล่าวว่า กว่า 40 ปีมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนที่ได้คุณภาพ ยึดหลักความยั่งยืนบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เฝ้ามองสังคมอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแพทย์ จึงอยากมีส่วนช่วยชดเชยส่วนที่ขาด โดยการเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ในภาคการศึกษาปี 2556 เป็นปีแรก รับนักศึกษาจำนวน 48 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลตำรวจ สถาบันที่เคยผ่านการผลิตแพทย์ให้ มศว, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช ประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ผ่านมา วันนี้พร้อมแล้วที่จะสร้างแพทย์ที่มีคุณภาพลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเมืองและชนบท และอนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน หลังจากได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"ยังมีคนไทยอีกมากมายที่รอคอยการให้บริการสาธารณสุข ที่ต้องเจอปัญหาการเข้าคิวนาน เราคิดว่าจะช่วยตรงนี้ได้ และเมื่อเรามีความพร้อมวันหนึ่งจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในอาเซียน จะสร้างแพทย์ให้ใช้ภาษาต่างๆ ได้ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมอาชีพเป็นไปได้ดี เช่น จีน อังกฤษ เป็นภาษาที่แพทย์ต้องเรียน แต่จะมีภาษาอาเซียนที่นักศึกษาแพทย์สามารถเลือกเรียนได้" อธิการบดีม.สยาม
นายแพทย์ใหญ่ (สบ) โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า การผลิตแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนยังคงล้มเหลว จำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ตัวเลขล่าสุดแพทย์ไทยทั้งหมดประมาณ 4.7 หมื่นคน อยู่ในสถานะแพทย์ที่พร้อมในการรักษาเพียง 3 หมื่นคน เฉลี่ยแล้วแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน ขณะที่ตัวเลขควรอยู่ที่ 1 ต่อ 500 คน หมายความว่าประเทศไทยต้องการแพทย์ 1.2 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ยังขาดแพทย์อีก 7 หมื่นคน ซึ่งวันนี้ ม.สยาม ได้ยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศชาติ หากเพียง ม.สยาม เพียงแห่งเดียวผลิตต้องใช้เวลาอีก 60 ปี จึงจะครบ 7 หมื่นคน กว่าจะถึงวันนั้นประชาชนคงเสียชีวิตไปแล้ว คงรอไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะที่ป็นอุปนายกได้หารือร่วมกับแพทย์ถึงแนวทางการผลิตแพทย์ จากเดิมเชื่อว่ามีเพียงมหาวิทยาลัยรัฐบาลที่สามารถสอนและเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์แล้วได้มาตรฐาน ได้เปลี่ยนแปลงระบบ โดยให้มหาวิทยาลัยเอกชนสามารถทำการเรียนการสอนได้
"ผมจะล้างความคิดที่ว่า มีเพียงมหาวิทยาลัยรัฐเท่านั้นที่ผลิตแพทย์แล้วได้มาตรฐาน มหาวิทยาลัยเอกชนก็สามารถผลิตได้เหมือนกัน โดยการประเมินแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เปิดหลักสูตรแพทย์เป็นที่แรก แพทย์บางคนและส่วนใหญ่มีผลสอบวัดผลดีกว่าแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยรัฐด้วยซ้ำ" นายแพทย์ใหญ่ (สบ) โรงพยาบาลตำรวจ
อุปนายกแพทยสภา ย้ำและยืนยันในเจตนารมณ์ว่า แพทยสภายังมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ ร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเป้าประสงค์ของการผลิตแพทย์คือ ต้องการช่วยประชาชนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุข ผลิตแพทย์เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดแคลน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ม.สยาม เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ต้องทำเงิน ซึ่งสามารถเปิดหลักสูตรที่ทำเงินได้ เช่น เอ็มบีเอ เป็นต้น แต่เลือกเปิดหลักกสูตรแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน ถึงขั้นปิดตัว แต่มีความมุ่งมั่นในนามของโรงพยาบาลตำรวจ และแพทยสภา จึงขอมีส่วนร่วมในการผลิตและป้อนแพทย์ออกช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ น้องๆ ที่สนใจเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสยาม ติดต่อขอซื้อใบสมัคร และรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-15 เมษายน 2556 ที่ศูนย์รับสมัครนักศึกษาใหม่ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 19 ทุกวัน เวลา 08.30-18.30 น. สอบถามได้ที่ โทร.0-2867-8088, 0-2457-0068, 0-2868-600 อีเมล admission@siam.edu
ที่มา - คมชัดลึกออนไลน์